รายการสั่งซื้อ

ปิด

บทความ

"ทันตแพทย์"ยื่นภาษีอะไรยังไงบ้าง?

ยื่นกันได้แล้วนะคะ #ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ขอเอิ้นกันในส่วนของบุคคลธรรมดาล่ะกันนะคะ ส่วนในนามนิติบุคคลนั้น ถึงแม้จะมีรายละเอียดมากมายแต่สำนักงานบัญชีก็จะเป็นผู้จัดการให้เราอยู่แล้ว เราแค่ส่งข้อมูลให้เค้าก็จบล่ะ

ในนามของบุคคลธรรมดานั้นเรามาดูแต่ละส่วนกันเลยค่ะ… ว่ามีอะไรบ้าง

เริ่มกันที่
#รายได้พึงประเมิน
ประเภทของรายได้พึงประเมินจากการทำฟัน ก็จะอยู่ใน 3 หมวดนี้นะคะ

40(1) เงินได้จากการจ้างงาน ซึ่งก็คือเงินเดือนค่ะ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ เป็นทันตแพทย์ราชการ ทันตแพทย์ของบริษัทอื่นๆ
ถ้ารับเป็นเงินเดือนก็เข้าหมวดนี้ค่ะ ก็คือเอาเงินเดือนที่ได้ทั้งปีรวมกันก็จะได้ก้อนนี้ค่ะ

40(2) เงินได้จากการจ้างงานเป็นครั้งคราว ก็เช่นรายได้จากคลินิกนอกเวลา รายได้จากการไปเป็นมือปืน รายได้จากการไปเป็นวิทยากร อาจารย์พิเศษ ก็ว่ากันไป
ในข้อนี้ก็คือรายได้จากการเอาแรงไปแลกเงินมาอ่ะค่ะ

40(6) รายได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ซึ่งในหมวดนี้ได้ประกอบด้วย 6 วิชาชีพ คือประกอบโรคศิลป์ นักบัญชี วิศวกร นักกฏหมาย และสถาปนิก

ซึ่งรายได้จากการประกอบวิชาชีพได้รับจะเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40(6) ต้องเข้าเงื่อนไข 3 ประการ คือ
1) เป็นเงินได้ที่ได้จากการใช้ความรู้ ความสามารถและความชำนาญในวิชาชีพที่กำหนด
2) เป็นเงินได้ที่ได้รับตามปริมาณงานหรือความยากง่ายของงาน
3) ผู้มีเงินได้สามารถคำนวณเงินได้อย่างเป็นอิสระโดยผู้มีเงินได้เอง และต้องไม่มีข้อจำกัดในการคำนวณเงินได้จากผู้ว่าจ้าง รวมถึงต้องเป็นรายรับทั้งจำนวนถึงแม้จะมีคนกลางรับเงิน แล้วหักส่วนแบ่งไว้ไปแล้วก็ตาม
ซึ่งรายรับประเภทนี้ก็คือรายรับของเจ้าของคลินิกนั่นเองค่ะ😁

ที่เราต้องแยกประเภทของรายรับให้ถูกก็เพราะรายรับแต่ละประเภทจะหักค่าใช้จ่ายได้แตกต่างกันนั้นเองค่ะ

รายได้พึงประเมิน 40(1) กับ40(2) นั้นจะสามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
ส่วนรายได้พึงประเมิน 40(6) นั้นจะหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ
คือหักตามจริงก็ได้หรือจะหักแบบเหมาจ่ายก็ได้
ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะนิยมแบบเหมากัน เนื่องจากไม่ต้องยื่นหลักฐานมากเท่าแบบตามจริงนั่นเองค่ะ
ซึ่งในหมวดของการประกอบโรคศิลป์นั้นจะหักได้มากกว่าหมวดอื่นๆก็คือ หักได้ 60% ของยอดเงินได้ทั้งหมดในปีนั้น

แต่หากใครมีรายรับในหมวดอื่นก็ต้องดูเพิ่มเติมนะคะ เช่นมีตึกให้เช่า มีธุรกิจอื่นๆก็ว่ากันไป อันนี้ของกล่าวถึงเงินได้ของผู้ที่มีรายได้จากการทำฟันอย่างเดียวนะคะ

#ค่าลดหย่อน
ซึ่งค่าลดหย่อนก็คือรายจ่ายบางอย่างที่เราจะเอามาลดหย่อนได้
ยกตัวอย่างเช่น เงินประกันชีวิต ดอกเบี้ยเงินกู้ การบริจาคต่างๆ ซึ่งจะมีการกำหนดไว้แล้วว่ามีค่าอะไรที่ลดหย่อนได้บ้าง
โดยที่เราสามารถเช็คได้ตั้งแต่ต้นปีภาษีเพื่อวางแผนการจ่ายภาษีนั่นเองค่ะ

ค่าลดหย่อนเหล่านี้จะมีอัพเดทต่างกันไปในแต่ละปี
ขึ้นกับว่ารัฐบาลอยากให้เราจับจ่ายไปกับเรื่องอะไรหรือหนุนนายทุนคนไหนเค้าก็จะคิดไอเทมลดหย่อนใหม่ๆออกมาค่ะ

#50ทวิ
หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือ 50 ทวิ
ซึ่ง 50 ทวิ ก็คือ เอกสารแสดงยอดเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้หักไว้แล้วในปีภาษี นอกจากนี้ในเอกสาร 50 ทวิ ยังแสดงข้อมูลรายได้ว่าได้มาจากที่ใดและจำนวนเท่าไหร่บ้าง
เป็นเอกสารที่ผู้มีเงินได้จะได้รับจากนายจ้างเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษี

ซึ่งใบ 50 ทวินี้นอกจากจะแสดงว่าภาษีเราถูกไว้ให้ที่ไหนบ้างแล้ว มันจะบ่งบอกว่าเรามีรายรับจากที่ไหนมาแล้วบ้างและข้อมูลส่วนนี้มันจะเข้าไปอยู่ในระบบของสรรพากรรอเราอยู่แล้ว
ดังนั้นอย่าลืมกรอกรายรับส่วนนี้ไปนะคะ

ยกตัวอย่างเช่น
เราไปเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับBMW ได้ค่าตัวมาเค้าก็จะมีใบเสร็จพร้อมกับ 50 ทวิมาให้เรานั่นแปลว่ารายรับส่วนนี้ของเราเข้าระบบผ่านBMW ไปเรียบร้อยแล้ว

อันนี้เป็นจุดเช็คจุดนึงเลยค่ะเวลาท่านสรรพากรเรียกไปพูดคุยท่านก็จะเช็คจากจุดนี้ได้เหมือนกันค่ะ

ถ้าประกอบอาชีพทันตแพทย์อย่างเดียวหลักๆที่เราต้องรู้ก็มี 3 ข้อนี้ค่ะ
>>>ส่วนการยื่นนั้นก็แสนง่ายก็เข้าเวบสรรพากร แล้วเราก็กรอกรายละเอียดทุกอย่างลงไป แล้วระบบจะเอาไปคำนวนภาษีตามอัตราที่ตั้งไว้

ก่อนกดยืนยันก็ทบทวนให้ดี จะบริจาคพรรคการเมืองไหน หรือจะทำผ่อนชำระมั้ยก็ง่ายมากเลยค่ะ

>>>กดยืนยันแล้วก็ปริ้นเก็บไว้พร้อมกับเอกสารใบเสร็จต่างๆหรือใบยืนยันตัวเลขทุกตัวที่เรากรอกไปว่ามีอยู่จริง เวลาเค้าของดูก็จะได้บึ่งมอไซด์ไปหาได้เลยทันที
.
.
ในส่วนทันตแพทย์ที่เปิดคลินิกเป็นเจ้าของคลินิกนั้นจะมีภาษีอื่นๆเพิ่มมาก็คือ
#ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับ #ภาษีป้าย

ถ้าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตรงนั้นเป็นของคุณเอง จะมีการเรียกเก็บเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ถ้าเป็นที่เช่าของคนอื่นภาษีที่ดินจะเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่า
แต่ถ้าในสัญญาเช่าระบุว่า ..
ผู้เช่าต้องเป็นผู้จ่ายภาษีที่ดินก็ต้องยึดตามสัญญาเช่า

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับภาษีป้าย
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือเทศบาลหรือ อบตที่เราตั้งอยู่จะเป็นผู้เรียกเก็บ
แนะนำให้เข้าไปติดต่อและชำระ เค้าจะประเมินให้เราเองเลยค่ะ หากสงสัยตรงไหนก็สอบถามเค้าได้เลย
ถือเป็นการไปสร้างสัมพันธภาพกับหน่วยงานอื่นๆค่ะ

และถ้าเป็นเจ้าของคลินิกต้องยื่นภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้งนะคะ
ครึ่งปีภาษีจะเป็นแบบ ภ.ง.ด.94 และสิ้นปีแบบ ภ.ง.ด.90/91

ที่สำคัญแนะนำว่าทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รายเดือนไว้ด้วยถึงแม้เราไม่ต้องยื่นแสดง
เพราะหากทางกรมสรรพากรขอตรวจ
เขาอาจประเมินและเรียกภาษีย้อนหลังซึ่งอาจจะสูงกว่าที่เรารับจริงก็เป็นได้ค่ะ

เราสามารถยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ผ่านระบบ E-FILING
หรือคลิก www.rd.go.th
.
สามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่วันนี้ – 8 เมษายน 2565
หากยื่นเอกสารกระดาษจะยื่นได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม
แต่ถ้ายื่นผ่านช่องทางออนไลน์จะยื่นได้ถึง 8 เมษายนนะคะ
.
หากยื่นภาษีไม่ทันในระยะเวลาที่กำหนด
จะต้องนำเอกสารไปยื่นเองที่สำนักงานสรรพากรใกล้บ้าน
หากไม่ยื่นจะมีโทษการไม่ยื่นภาษี และโดนย้อนหลังด้วยนะคะ
ซึ่งสามารถยื่นภาษีได้ที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง

บทความอื่นๆเกี่ยวกับภาษี
https://web.facebook.com/permalink.php?story_fbid=121573743364694&id=109681144553954