แต่ละคนก็ให้ความสำคัญกับปัจจัยในการเลือกทำเลที่แตกต่างกัน บางคนเน้นย่านชุมชน บางคนเน้นค่าเช่าถูก บางคนมีตึกอยู่แล้ว ไม่มีอันไหนถูกผิด แต่การที่เราวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆอย่างละเอียดก็จะช่วยทบทวนเราอีกครั้งว่าทำเลที่เราเลือกนั้นเหมาะสม หรือทำให้เราได้ทำเลที่ตรงกับความต้องการของเรามากที่สุด และลดโอกาสที่จะขาดทุนได้ด้วยเช่นเดียวกันค่ะ
ซึ่งปัจจัยหลักๆในการเลือกทำเลเอามาให้ดูกัน 6 ข้อ
1. กลุ่มคนไข้เป้าหมาย
กลุ่มคนไข้ที่เราต้องการทำหรืองานที่เราถนัดจะเป็นปัจจัยแรกๆที่เราจะคิด ถ้าเป็นหมอจัดฟันก็คงคิดถึงทำเลหน้าโรงเรียน ถ้าเป็นงานทันตกรรมทั่วไปก็อาจจะคิดถึงบริเวณย่านชุมชน ตลาดหรือโรงงาน หรือถ้าเป็นรากเทียม วีเนียร์ก็อาจจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีกำลังซื้อสูงๆเช่นเมืองใหญ่หรือในกรุงเทพ นอกจากลุ่มเป้าหมายแล้ว ขนาดของกลุ่มเป้าหมายก็สำคัญนะคะ ถ้าเป็นเมืองเล็กๆมีกลุ่มเป้าหมายไม่เยอะมากก็อาจต้องคิดถึงกลุ่มเป้าหมายรองๆไว้ด้วยนะคะ
2. อยู่ในสายตา ไปมาสะดวก
ทำเลที่อยู่ติดถนน ที่มีรถสัญจรไปมาอยู่ตลอดหรือมีคนเดินผ่านพลุกพล่านมากกว่าที่จะอยู่ในซอยเล็กๆ อยู่ในจุดที่มองเห็นได้ง่าย ไปมาได้หลายช่องทาง การเดินทางสะดวกสบาย ก็จะช่วยให้คนไข้เข้าถึงเราได้ง่ายมองเห็นได้โดยไม่ต้องโฆษณาให้เปลืองค่าแอด
ลองคิดถึงคนไข้จัดฟันที่ต้องมาทุกเดือนถ้าไปมาลำบากก็คงเบื่อไปก่อนจะจบเคส
โดยเฉพาะคลินิกในห้างต่อให้อยู่ในห้างที่มีลูกค้าหนาแน่น แต่หากอยู่ในพื้นที่ที่ลึกสุด เช่น ต้องเดินจากบันไดเลื่อนหรือลิฟต์แล้วต้องเลี้ยวหลายต่อกว่าจะไปถึง ก็คงยากที่คนไข้จะมองเห็นและเข้าถึงคลินิกของเราอย่างแน่นอน
3. มีที่จอดรถ
ข้อนี้คิดว่าเป็นข้อที่สำคัญที่สุดในบรรดาทุกข้อ
อย่าคิดว่าคลินิกเราดียังไงคนไข้ก็ต้องมา ในตอนนี่คลินิกล้นเมืองแบบนี้บอกเลยค่ะว่าคนไข้พร้อมจะขับออกไปแวะที่จอดสะดวกแบบไม่ลังเลเลยค่ะ
.
ทุกวันนี้ลูกค้ามีทางเลือกมากมาย ถ้าเขาไม่ได้รับความสะดวกสบายในการมาร้าน เขาอาจย้ายไปกินร้านอื่นที่มีที่จอดรถได้ในทันที
.
ยิ่งถ้าคลินิกของเราเป็นคลินิกที่เน้นการรักษาที่มีมูลค่าสูงที่คนไข้ต้องมาด้วยรถส่วนตัวแน่ๆ โดยเฉพาะรถแพงๆที่ไม่อยากจอดเบียดกับใครเพราะไฟหน้าราคาแพงด้วยแล้ว ที่จอดรถอาจกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้
ถ้าไม่มีพื้นที่อาจใช้วิธีเช่าพื้นที่ที่จอดรถข้างเคียงหรือ จะใช้บริการรับจอดรถซึ่งพบได้ในห้าง หรือภายในอาคารที่มีที่จอดรถอยู่แล้วซึ่งส่วนนี้ก็จะเพิ่มต้นทุนส่วนของค่าเช่าขึ้นมาด้วยนะคะ
4.ค่าเช่าและสัญญาเช่า
ค่าเช่ามักจะสูงต่ำตามทำเลอยู่แล้ว คือทำเลดีก็มักจะราคาสูงกว่านอกบ้านชานเมือง แต่ราคาก็ไม่ควรสูงกว่าคนอื่นๆทั่วไปซึ่งบางครั้งเจ้าของเห็นว่าเป็นหมอก็อาจจะตั้งราคาสูงเอาไว้กว่าปกติ เราอาจจะต้องสืบจากทำเลร้านละแวกนั้นว่าเช่ากันที่เท่าไหร่
ค่าเช่าโดยทั่วไปก็ไม่ควรเกิน 10-15% ของยอดขาย ดังนั้นการพิจารณาก็อาจเทียบจากยอดขายประมาณการที่เราคาดว่าจะทำได้
แต่เอาเข้าจริงตอนจะเปิดคลินิกแทบจะไม่รู้เลยว่ารายได้หรือยอดขายจะได้เท่าไหร่ก็คือมึนๆเอา
นอกจากค่าเช่าแล้วที่สำคัญก็คือสัญญาเช่าข้อตกลงต่างๆผู้เช่าจะเป็นผู้กำหนด แล้วเราก็อาจจะต่อรองในสิ่งที่เราต้องการ อย่าลังเลที่จะคุยให้ชัดเจน ประเด็นที่ควรดูคือ
>> ระยะเวลาเช่า อย่างน้อยก็ 3-5 ปี อันนี้ตอบจากประสบการณ์ที่ระยะคืนทุนอยู่ประมาณ 2 กว่าๆ เพราะกว่าจะเปิดได้ก็เสียน้ำตาไปหลายอยู่ ถ้าต้องเปิดที่ใหม่ในระยะเวลาสั้นๆ คงจะไม่ไหวเอา
>> การดัดแปลงและต่อเติมทำได้แค่ไหนเจาะพื้นได้มั้ย กั้นผนังได้มั้ย ตีฝ้าได้มั้ย น้ำไฟต้องขอใหม่รึเปล่า ถ้าเจ้าบ้านบอก เอาเลยแล้วแต่หมอก็จัดการเพิ่มเติมระบุในสัญญาให้เรียบร้อย
>>การจ่ายค่าเช่า จ่ายอย่างไร หัก ณ ที่จ่าย 5% ได้มั้ย ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นนิติบุคคลจะต้องมีการคุยกันไว้ให้ชัดเจน
.
สิ่งที่คุณอาจสามารถต่อรองในเรื่องของสัญญาได้ เช่น ต่อรองช่วงฟรีค่าเช่า ต่อรองเรื่องภาษีโรงเรือนให้ผู้ให้เช่ารับผิดชอบ หรืออาจรวมไปถึงต่อรองค่าเช่า โดยอาจขอให้เก็บค่าเช่าต่ำในปีแรก เพื่อให้มั่นใจว่าร้านจะอยู่ได้แน่ๆ และที่สำคัญที่สุดอะไรที่คุณตกลงกับเจ้าของที่ไว้ อย่าลืมใส่ไว้ในสัญญาให้เป็นลายลักษณ์อักษรด้วยนะคะ
5. คู่แข่งที่เราอยากจะไฝ้
ถ้ามีคลินิกในละแวกเดียวกัน แน่นอนว่าต้องแบ่งส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่แล้ว แต่ยังไงๆแต่ละคลินิกย่อมมีคนไข้เป็นของตัวเองอยุ่แล้วโดยอัตโนมัติ นั่นคือคนไข้ที่ถูกจริตกับเราก็จะมาหาเรา ที่ไม่ถูกจริตกับเราก็จะไปที่อื่น ไม่มีความจำเป็นต้องเป็นคู่แข่งหรือแย่งกันเลย ในทางกลับกันเป็นพันธมิตรกันดูจะเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อกันมากกว่า
ถึงแม้ว่าเราไม่กำหนดกลุ่มเป้าหมายแต่คนไข้ก็จะกำหนดเองเช่นคลินิกที่มีวัยรุ่นเยอะ ผู้ใหญ่ก็จะไม่ไปเพราะไม่อยากวุ่นวายกับเด็ก อย่างนี้เป็นต้น แต่หากมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกันก็เพิ่มความยากในการสร้างความแตกต่างขึ้นมาเช่นกัน
การบริการทันตกรรมเป็นบริการที่จำกัดด้วยกำลังการผลิตคือเราไม่สามารถทำคนไข้วันละเป็นร้อยคนได้ ต่อให้มีคนไข้เยอะเราก็ไม่สามารถทำได้หมด คนไข้ก็จะกระจายตัวโดยอัตโนมัติ
สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือจำนวนคลินิกต้องไม่มากเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดประชากรโดยรวมนะคะ
6. จบที่ฮวงจุ้ย
ข้อนี้ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะบอกว่าไร้สาระ แต่วันที่คนไข้ลดลง มันจะกลายเป็นเรื่องที่มีสาระขึ้นมาทันที คุณจะจิตตกกับเคาเตอร์ที่หันไปด้านมรณะ ประตูเปิดทางทิศดับสูญ ดังนั้นตกลงกับตัวเองให้ดีว่าฉันโนสนโนแคร์กับเรื่องนี้จริงๆ ถ้าจิตไม่แข็งจริง ก็ให้ซินแสดูตั้งแต่แรกจะดีที่สุด ไม่ต้องรื้อไม่ต้องทุบหรือเอาลูกบอลกระจกมาแขวนให้ผิดที่ผิดทางไปอีก
ที่ว่าไปนั้นคือหลักการที่เค้าว่าๆกันมา
แต่ฉบับจริงที่ทำมา 2 คลินิกคือ
คลินิกแรก นั่งรถไปรอบๆตลาด รอบๆเมือง แต่เน้นถนนสายหลัก มองเห็นได้ง่าย
พอเจอตึกว่างแล้วก็โทรเช็คราคา โชคดีเจ้าของตึกใจดีเช่ามา 10 ปี จะทุบจะรื้อจะทำอะไรตามใจชอบเลยค่ะ
แต่ตัดสินใจย้ายเพราะ เป็นตึก 1 คูหามันแคบและไม่มีที่จอดรถ
มาคลินิกที่สอง ก็ทำเหมือนเดิมค่ะ นั่งรถไปรอบๆ หาตึก 2 คูหา มีที่จอดรถ เจอที่ถูกใจก็เอาเลยเพราะถือว่ามีคนไข้ในมือแล้ว
แต่ครั้งนี้ตัดสินใจซื้อไม่ได้เช่าแล้ว
ทิ้งท้ายนิดนึงว่าถ้าจะย้ายคลินิกให้ปิดป้ายแจ้งคนไข้แต่เนิ่นๆ
แล้วให้เช่าที่เก่าทิ้งไว้สัก 3-6 เดือน เผื่อคนไข้เก่าๆมาแล้วไม่เจอเรายังติดป้ายแจ้งคนไข้ไว้ได้
อีกกรณีคือกันไม่ให้มีผู้เช่ารายอื่นมาเช่าแล้วเปิดคลินิกต่อในทันที แล้วก็โมเมซิวคนไข้เราไป...อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้นะคะ